วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

ตัวอย่างการสอน

การออกแบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิง

การออกแบบอีเลิร์นนิงเริ่มจากการออกแบบการเรียนการสอน  การออกแบบการเรียนการสอน : ADDIE Model และการออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิง

1. การออกแบบการเรียนการสอน (Instructional design)
           ความหมายของการออกแบบ เป็นการถ่ายทอดรูปแบบจากความคิดออกมาเป็นผลงานที่ผู้อื่นสามารถมองเห็น รับรู้ หรือสัมผัสได้  การออกแบบต้องใช้ศาสตร์แห่งความคิดและศิลป์ร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือปรับปรุงพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีขึ้น มีการใช้การออกแบบในทุก ๆ ด้าน เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์  การออกแบบสินค้า  การออกแบบโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงการออกแบบการเรียนการสอน
          การออกแบบการเรียนการสอน จึงเป็นกระบวนการวางแผนการเรียนการสอนอย่างมีระบบ โดยมีการวิเคราะห์องค์ประกอบการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนการสอน สื่อกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ รวมถึงการประเมินผล เพื่อให้ผู้สอนสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียน  เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        ผู้สอนที่มีประสบการณ์การสอนอย่างดีจะสามารถใช้ประสบการณ์ และความรู้ความสามารถของตนเอง ในการคิด การเลือกวิธีการสอน สื่อการสอน และกิจกรรมการเรียน ทำให้คุณภาพของการเรียนการสอนต่างกันไปตามความสามารถของผู้สอนแต่ละคน การออกแบบการเรียนการสอนจะเป็นแนวทางที่ผู้สอนทุกคนต้องออกแบบการสอนของตนได้
           การออกแบบการเรียนการสอนจะช่วยให้ผู้สอนวางแผนการสอนอย่างมีระบบ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมาย และประสบความสำเร็จผู้สอนต้องพิจารณาหลักการในการออกแบบการเรียนการสอน คือ
       1. การออกแบบและพัฒนาการเรียนการสอนนี้เพื่อใคร ใครเป็นผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมาย ผู้ออกแบบควรมีความเข้าใจและรู้จักลักษณะของกลุ่มผู้เรียนที่เป็นเป้าหมายในการเรียนอีเลิร์นนิง
       2. ต้องการให้ผู้เรียนเรียนอะไร มีความรู้ความเข้าใจ และมีความสามารถอะไร ผู้สอนจึงต้องกำหนดจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนให้ชัดเจน
       3. ผู้เรียนจะเรียนรู้เนื้อหาวิชานั้น ๆ ได้ดีที่สุดอย่างไร ควรใช้วิธีการและกิจกรรมการเรียนรู้อะไรที่จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ และมีสิ่งใดที่ต้องคำนึงถึงบ้าง
       4. เมื่อผู้เรียนเข้าสู่กระบวนการเรียน จะทราบได้อย่างไรว่าผู้เรียนมีการเรียนรู้เกิดขึ้น และประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ จะใช้วิธีใดประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
           สรุปได้ว่า การออกแบบการเรียนการสอน ควรมีการวางแผนเพื่อพิจารณาว่าผู้เรียนเป็นใครมีคุณลักษณะพื้นฐานอย่างไร กำหนดจุดมุ่งหมายในการสอนครั้งนั้นอย่างไร จะใช้วิธีการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ และวิธีการประเมินผลการเรียนอะไรบ้าง จึงจะสามารถทำให้การสอนนั้นบรรลุเป้าหมาย คือภายหลังเรียนแล้วรู้ เข้าใจ จดจำ นำไปใช้ ทำได้ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ เป็นต้น


2. การออกแบบการเรียนการสอน: แบบจำลอง ADDIE
           รูปแบบการออกแบบการเรียนการสอนประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ในการออกแบบระบบการเรียนการสอน ซึ่งมักจะเขียนในรูปแบบของผังแสดงลำดับการทำงาน (Flowchart) เพื่อแสดงรูปแบบให้เข้าใจได้ง่าย และรวดเร็ว โดยหลักการพื้นฐานในการออกแบบการเรียนการสอนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ แบบจำลอง ADDIE ที่มีองค์ประกอบ 5 ขั้นตอน คือ การวิเคราะห์ (Analysis) การออกแบบ (Design) การพัฒนา (Development) การนำไปใช้ (Implementation) และการประเมินผล (Evaluation) โดยรายละเอียดของการออกแบบการเรียนการสอนแบบจำลอง ADDIE ทั้ง 5 ขั้นตอนมีดังนี้

1. ขั้นการวิเคราะห์
การวิเคราะห์เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการออกแบบการเรียนการสอน ผู้ออกแบบจะต้องกำหนดความจำเป็นในการเรียน ทำการวิเคราะห์เนื้อหาหรือกิจกรรมการเรียนการสอน คุณลักษณะของผู้เรียน และวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนเพื่อรวบรวมข้อมูล สำหรับใช้เป็นแนวทางในการกำหนดขอบเขตของบทเรียน ขั้นการวิเคราะห์ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ดังนี้
       1.1 วิเคราะห์ความจำเป็น (Need Analysis) คือการวิเคราะห์เพื่อกำหนดเลือกว่าควรจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับอะไร โดยอาจหาข้อมูลจากความต้องการของผู้เรียน หรืออาจหาข้อมูลจากการกำหนดความจำเป็น ปัญหาขัดข้อง หรืออุปสรรคที่ทำให้การเรียนการสอนไม่บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ และพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องจัดการเรียนการสอน หากจำเป็นหรือสมควรจัด และควรจัดอย่างไร
       1.2 วิเคราะห์เนื้อหา หรือ กิจกรรมการเรียนการสอน (Content and Task Analysis) คือ การวิเคราะห์เพื่อจัดการเรียนการสอนให้ครอบคลุม หรือสอดคล้องกับความต้องการ ความจำเป็นในการเรียนการสอน โดยพิจารณาอย่างละเอียดด้านเนื้อหา มีการแบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อใหญ่ และหัวข้อย่อย ๆ เพื่อให้มีความชัดเจน กำหนดเลือกกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
      1.3 วิเคราะห์ผู้เรียน (Analyze Learner Characteristic) เป็นการวิเคราะห์เพื่อสรุปเป็นข้อมูลสำหรับการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน โดยวิเคราะห์ทั้งลักษณะทั่วไป เช่น อายุ ระดับ ความรู้ความสามารถ เพศ สังคม วัฒนธรรม เป็นต้น และควรวิเคราะห์ ลักษณะเฉพาะของผู้เรียนด้วย เช่น ความรู้พื้นฐาน ทักษะความชำนาญ หรือความถนัด รูปแบบการเรียน ทัศนคติ เป็นต้น
      1.4 วิเคราะห์วัตถุประสงค์ (Analyze Objective) วัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน คือ จุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนรู้ว่าเมื่อเรียนบทเรียนนั้น ๆ แล้วจะเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง ดังนั้นการกำหนดวัตถุประสงค์จึงต้องมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดและรอบคอบ โดยอาจกำหนดจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายหลักของการเรียนการสอนก่อน แล้วจึงกำหนดเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สามารถประเมินผลได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าผู้เรียนบรรลุผลการเรียนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมแยกเป็น 3 ด้านคือ ตัวอย่าง
       1) วัตถุประสงค์ทางด้านพุทธิพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ
      2) วัตถุประสงค์ด้านจิตพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับความรู้สึก ค่านิยม ทัศนคติ
      3) วัตถุประสงค์ด้านทักษะพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำหรือการปฏิบัติ
      1.5 วิเคราะห์สภาพแวดล้อม (Analyze Environment) วัตถุประสงค์การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการสอน เพื่อเป็นการเตรียมการล่วงหน้าว่า สถานที่ เวลา และบริบทในการเรียนการสอนที่จะดำเนินการนั้นจะอยู่ในสภาพใด เช่น ขนาดห้องเรียน อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนที่จะใช้คืออะไร

2. ขั้นการออกแบบ
การออกแบบเป็นกระบวนการกำหนดว่าจะดำเนินการเรียนการสอนอย่างไร โดยมีการเขียนวัตถุประสงค์จัดทำลำดับขั้นตอนของการเรียน กำหนดวิธีสอน เลือกสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม และกำหนดวิธีการประเมินผลว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ ขั้นการออกแบบประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ทั้งด้านการระบุวัตถุประสงค์ ระบุวิธีสอน ระบุสื่อการสอน และระบุวิธีการประเมินผล


3. ขั้นการพัฒนา
การพัฒนาเป็นกระบวนการดำเนินการเตรียมการจัดการเรียนการสอน หรือ สร้างแผนการเรียนการสอน เลือกใช้สื่อการเรียนการสอนโดยพิจารณาสื่อที่มีอยู่ว่าเหมาะสมที่จะใช้ ควรปรับปรุงก่อนใช้หรือควรสร้างสื่อใหม่ และทำการประเมินผลขณะดำเนินการพัฒนาหรือสร้างเพื่อปรับปรุง แก้ไขให้ได้ ระบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาแผนการเรียนการสอน พัฒนาสื่อการเรียนการสอน ประเมินผลขณะดำเนินการพัฒนา ขั้นการพัฒนาประกอบด้วยขั้นตอนย่อย เช่น การพัฒนาแผนการเรียนการสอน การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และการประเมินผลระหว่างดำเนินการพัฒนา

4. ขั้นการนำไปใช้
การนำไปใช้เป็นขั้นตอนการดำเนินการเรียนการสอนตามที่ได้ออกแบบและพัฒนาไว้แล้ว ในสภาพจริง

การนำการออกแบบการสอนไปใช้
5. ขั้นการประเมินผล
การประเมินผลเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการออกแบบระบบการเรียนการสอน เพื่อประเมินผลขั้นตอนต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามที่ได้วางแผนหรือไม่ และทำการปรับปรุง แก้ไขให้ได้ระบบการสอนที่มีประสิทธิภาพ

รายละเอียดแบบจำลองการเรียนการสอนแบบ ADDIE สามารถแสดงได้ ดังภาพ


3. การออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิง (Instructional design for e-Learning)
         การออกแบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิง ไม่แตกต่างจากการออกแบบการเรียนการสอนที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยสามารถกระทำได้เช่นเดียวกับการออกแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติทั้งนี้ผู้สอนแบบอีเลิร์นนิงนอกจากจะมีความสามารถในการสื่อสารการสอนเช่นเดียวกับการสอนห้องเรียนปกติแล้วยังต้องมีความรู้ความสามารถเข้าใจและมีความสามารถอย่างดีในการเลือกใช้เครื่องมือการสอนจากระบบบริหารจัดการเรียนการสอน และเครื่องมือทางอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ทางการเรียน เนื่องจากผู้เรียนและผู้สอนไม่ได้พบกันแบบเผชิญหน้าแเหมือนห้องเรียนปกติ
           การออกแบบระบบการเรียนการสอนเป็นกระบวนการ มีขั้นตอนในการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ระบบการเรียนการสอนที่ดี สำหรับการออกแบบระบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากแหล่งทรัพยากรที่มากกว่าการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ รูปแบบระบบการเรียนการสอนจึงมีส่วนสำคัญในการดำเนินการเพื่อประสานกับกลุ่มบุคคลที่เป็นแหล่งทรัพยากรและช่วยดำเนินการให้การเรียนการสอนอีเลิร์นนิงเกิดขึ้นได้
           การจัดการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงมีความแตกต่างไปจากการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ เนื่องจากผู้เรียนและผู้สอนอาจมีความแตกต่างกันในเรื่องของเวลา และสถานที่ ผู้ที่จัดการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจลักษณะและธรรมชาติของการเรียนการสอนทางไกลที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางซึ่งผู้เรียนมักคาดหวังการได้รับปฏิสัมพันธ์จากผู้สอนรวมถึงการตอบสนองความแตกต่างรายบุคคลที่มากกว่าในห้องเรียนปกติตลอดจนต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการการศึกษาทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต ทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีการเรียนรู้ ทฤษฎีระบบ และรูปแบบระบบการเรียนการสอน เพื่อเป็นฐานในการออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงได้อีกทั้งการออกแบบการสอนไม่ได้เป็นการเน้นที่การถ่ายโอนความรู้ (Transfer of knowledge) จากผู้สอนไปยังผู้เรียนเท่านั้น การเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิงจำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญซึ่งประกอบด้วยการเรียนตามอัตราความก้าวหน้ารายบุคคลการมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนการสอนเป็นสำคัญ และสภาพแสวดล้อมทางการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย
สำหรับการจัดการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงนั้น แบบจำลองการออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงสามารถนำหลักการพื้นฐานในการออกแบบการเรียนการสอน คือ แบบจำลอง ADDIE Model ทั้งองค์ประกอบ 5 ขั้นตอนคือ การวิเคราะห์ การออกแบบ การพัฒนา การนำไปใช้ และการประเมินผล มาเป็นแนวทางเพื่อการออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงได้เช่นเดียวกับการสอนในห้องเรียนปกติ มีรายละเอียดและตัวอย่างดังนี้
1. การวิเคราะห์
1.1 วิเคราะห์ความจำเป็น
จัดการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงในหลักสูตร รายวิชา หรือเนื้อหาอะไร
จัดการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิงเต็มรูปแบบ หรือแบบผสมผสาน หรือเสริมการเรียนการสอน
1.2 วิเคราะห์เนื้อหา หรือกิจกรรมการเรียนการสอน
     - การแบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อใหญ่ และหัวข้อย่อย ๆ เพื่อให้มีความชัดเจน กำหนดเลือกกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.3 วิเคราะห์ผู้เรียน
      - ข้อมูลผู้เรียน เช่น ระดับชั้น อายุ ความรู้พื้นฐาน เพื่อให้ได้บทเรียนที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
1.4 วิเคราะห์วัตถุประสงค์
       - กำหนดวัตถุประสงค์ทางด้านพุทธิพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ ด้านจิตพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับความรู้สึก ค่านิยมทัศนคติ และด้านทักษะพิสัย คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำหรือการปฏิบัติ
         - ระดับชั้น อายุ ความรู้พื้นฐาน เพื่อให้ได้บทเรียนที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
1.5 วิเคราะห์สภาพแวดล้อม
       - อุปกรณ์สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น เครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แม่ข่าย จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในสถาบัน ระบบจัดการสอน
           - จำนวนผู้เรียนที่มีคอมพิวเตอร์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ความเร็ว
2. ออกแบบ
         - การเขียนผังงาน การออกแบบ storyboard เพื่อจัดลำดับความสัมพันธ์ของเนื้อหาแต่ละส่วน บทดำเนินเรื่อง และการออกแบบบทเรียน ภาพ ข้อความ เสียง หรือมัลติมีเดีย กิจกรรมการเรียน การกำหนดปฏิสัมพันธ์การเรียน และการประเมินผล
              - การนำตัวบทเรียนที่ผ่านการออกแบบและวิเคราะห์จากขั้นวิเคราะห์มาพัฒนาเป็นการเรียนอีเลิร์นนิง
       - การออกแบบหน้าจอภาพ (screen design) การจัดพื้นที่และองค์ประกอบของจอภาพเพื่อใช้ในการนำเสนอเนื้อหา ภาพ กราฟิก เสียง สี ตัวอักษร และส่วนประกอบอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้เรียน
3. พัฒนา
ขั้นพัฒนาเป็นขั้นตอนของการลงมือปฏิบัติการสร้างบทเรียนตามผลการออกแบบจากขั้นตอนที่สอง ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยผู้มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน เช่น นักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก นักคอมพิวเตอร์ผู้ดูแลและจัดการระบบการจัดการเรียนการสอน (LMS: learning management system) เช่น
1. ตัวอักษรของเนื้อหาข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษควรใช้ตัวหัวกลม แบบธรรมดา หนึ่งหน้าจอควรมีเนื้อหาไม่เกิน 8 - 10 บรรทัดและควรใช้ลักษณะเหมือนกัน รูปแบบเดียวตลอดหนึ่งบทเรียน
2.ภาพกราฟิกควรใช้ภาพการ์ตูนภาพวีดีทัศน์ ภาพล้อเสมือนจริงที่เป็นภาพเคลื่อนไหว 2 มิติ (animation) และ 3 มิติ (3 D animation) จำนวน 1 ถึง 3 ภาพภายในหนึ่งหน้าจอ และภาพพื้นหลัง (ถ้ามีควรใช้ภาพลายน้ำ สีจางลักษณะเดียวกันตลอดหนึ่งบทเรียน
3. สีที่ปรากฏในจอภาพและสีของตัวอักษร ข้อความไม่ควรใช้เกินจำนวน 3 สี โดยคำนึงถึงสีพื้นหลังประกอบด้วย
4. สื่อชั้นนำในการนำทาง (navigational aids) ควรเลือกใช้สัญรูป (icon) แบบปุ่มรูปภาพ แบบรูปลูกศรพร้อมทั้งอธิบายข้อความสั้น ๆ ประกอบสัญลักษณ์หรือแสดงข้อความ hypertext และใช้เมนูแบบปุ่ม (button) แบบ Pop Up ที่แสดงสัญลักษณ์สื่อความหมายได้เข้าใจชัดเจน
5. ปัจจัยสนับสนุนเพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาบทเรียน เช่น การเลือกใช้ระบบบริการจัดการเนื้อหา (CMS: content management system) แหล่งสนับสนุนการเรียนรู้ การใช้เครื่องมือสื่อสารปฏิสัมพันธ์


4. นำไปใช้
การนำเสนอการเรียนผ่านระบบบริหารจัดการเรียนการสอนเผยแพร่บนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (network) และสู่การนำไปจัดการเรียนการสอนจริง
5. ประเมิน
                การประเมินการวิเคราะห์ การประเมินการออกแบบ การประเมินการพัฒนา และการประเมินเมื่อนำไปใช้จริงของระบบอีเลิร์นนิง โดยกระทำระหว่างดำเนินการ คือการประเมินระหว่างดำเนินงาน (formative evaluation) และประเมินภายหลังการดำเนินงาน (summative evaluation) การประเมินจะทำใหผู้พัฒนาทราบข้อมูลเพื่อการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในขั้นตอนต่าง ๆ 

การนำแบบจำลอง ADDIE เพื่อการออกแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงสู่การปฏิบัตินั้น นอกจากจะดำเนินการตามขั้นตอนตามแบบจำลองแล้ว การให้ความสำคัญขั้นตอนต่าง ๆ ในแบบจำลอง ADDIE นั้น ผู้เขียนเองแบ่งสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน โดยให้ความสำคัญกับ 3 ลำดับแรก คือ การวิเคราะห์ การนำไปใช้ และการประเมิน ในสัดส่วนที่เท่ากันคือร้อยละ 33 ลำดับถัดมา คือการพัฒนาร้อยละ 23 และลำดับสุดท้าย คือการออกแบบร้อยละ 10
แบบจำลองการออกแบบการสอน ADDIE นี้ สามารถนำมาใช้เพื่อการออกแบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิงโดยกว้าง ๆ ที่ผู้ประสงค์จะพัฒนาอีเลิร์นนิงสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา หรือไปขยายรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนเพื่อการพัฒนาอีเลิร์นนิงตามหลักการที่ถูกต้องต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น