วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

การสอนแบบวิทยาศาสตร์

วิธีสอนแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)

          วิธีสอนแบบวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนพบปัญหา และคิดหาวิธีแก้ปัญหาโดยขั้นทั้ง 5 ของวิทยาศาสตร์
ขั้นตอนของวิธีสอนแบบวิทยาศาสตร์
1. ขั้นกำหนดปัญหา และทำความเข้าใจถึงปัญหา
เป็นขั้นในการกระตุ้น หรือเร้าความสนใจให้นักเรียนเกิดปัญหา อยากรู้อยากเห็นและอยากทำกิจกรรมในสิ่งที่เรียน หน้าที่ของครูคือการแนะแนนำให้นักเรียนเห็นปัญหา จัดสิ่งแวดล้อมในการแก้ปัญหาโดยมีนวัตกรรมต่างๆ เป็นเครื่องช่วย
2. ขั้นแยกปัญหา และวางแผนแก้ปัญหา
ขั้นนี้ครูและนักเรียนช่วยกันแยกแยะปัญหา กำหนดขอบข่ายการแก้ปัญหาและจัดลำดับขั้นตอนก่อนหลังในการแก้ปัญหา ดังนี้
2.1 ครูและนักเรียนร่วมกันวางแผนและกำหนดวิธีการแก้ปัญหา
2.2 แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มรับผิดชอบและทำงานตามความสามารถและความสนใจ
2.3 แนะนำให้นักเรียนในแต่ละกลุ่มรู้จักแหล่งความรู้เพื่อศึกษาค้นคว้าและนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา
3. ขั้นลงมือแก้ปัญหาและเก็บข้อมูล
เป็นขั้นการเรียนรู้ของนักเรียนเองโดยการกระทำจริงๆ โดยส่งเสริมให้นักเรียนได้มีความรู้
ความสามารถที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในขั้นนี้ครูมีหน้าที่ ดังนี้
3.1 แนะนำให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเข้าใจปัญหา รู้จักวิธีแก้ปัญหา และรู้จักแหล่ง ความรู้สำหรับแก้ปัญหา
3.2 แนะนำให้นักเรียนทำงานอย่างมีหลักการ
4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูลหรือรวบรวมความรู้เข้าด้วยกันและแสดงผล
เป็นขั้นการรวบรวมความรู้ต่างๆ จากปัญหาที่แก้ไขแล้ว นักเรียนแต่ละกลุ่มจะต้องแสดง ผลงานของตน
5. ขั้นสรุปและประเมินผลหรือขั้นสรุปและการนำไปใช้ ครูและนักเรียนช่วยกันสรุปและประเมินผลการปฏิบัติการแก้ปัญหาดังกล่าวว่ามีผลดีผล เสียอย่างไร แล้วบันทึกเรียบเรียงไว้เป็นหลักฐาน
ข้อดีของวิธีสอนแบบวิทยาศาสตร์
1. นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองและได้ร่วมปฏิบัติงานเป็นทีม
2. ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย
3. ส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบ
4. ส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ความคิดหาเหตุผลและมีการคิดอย่างเป็นระบบ
ข้อสังเกตของวิธีสอนแบบวิทยาศาสตร์
1. ปัญหาที่นำมาใช้ต้องเป็นปัญหาที่เกิดจากนักเรียน ไม่ใช่เป็นปัญหาที่ครูกำหนด
2. ครูต้องยึดมั่นในบทบาทของตนในการทำหน้าที่ให้แนวทางในการคิดแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นผู้ชี้นำความคิดของนักเรียน



รูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ




รูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ วิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ

                 การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับปรับปรุง  พ.ศ. 2545  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551   มาตรฐานการศึกษาและแนวคิดการปฏิรูปการศึกษานั้นกำหนดให้ผู้สอนจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างหลากหลาย เหมาะสมกับธรรมชาติและสนองความต้องการ ความสนใจ  ความถนัดของผู้เรียน ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการการเผชิญสถานการณ์และประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา  มีการจัดการเรียนรู้ที่ผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกวิชา การที่ผู้สอนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับหลักการหรือวิธีการที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นนั้น ผู้สอนจำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการสอน วิธีการสอน เทคนิคการสอนหรือวิธีจัดการเรียนรู้แบบต่างๆ ก่อนที่จะนำไปเขียนแผนการเรียนรู้  ซึ่งข้าพเจ้าใคร่นำเสนอรูปแบบการสอนซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวข้างต้น 5 รูปแบบดังนี้

1. การจัดการเรียนรู้แบบจัดกรอบมโนทัศน์
( Concept  Mapping  Technique)
  ความหมาย  
                เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนนำมโนทัศน์ในเนื้อหาสาระที่ได้เรียนรู้มาจัดระบบ จัดลำดับ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์แต่ละมโนทัศน์ที่มีความเกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดกรอบมโนทัศน์ขึ้น
 วัตถุประสงค์
1.       เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้จักสังเกต เปรียบเทียบ สรุปและจำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ จัดเป็นระบบหรือหมวดหมู่ได้อย่างถูกต้อง
2.       ฝึกให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้า คิดเพื่อให้ได้ความรู้และสามารถสร้างความคิดรวบยอดด้วยตนเอง
3.       เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างและสรุปความรู้ด้วยการจัดกรอบมโนทัศน์รูปแบบต่างๆ ได้
 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
1.       ขั้นตรวจสอบมโนทัศน์พื้นฐาน ผู้สอนตรวจสอบมโนทัศน์พื้นฐานของผู้เรียนเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้ผู้เรียนเรียนรู้ ซึ่งอาจทำได้โดยให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหรือตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบ
2.       ขั้นระบุมโนทัศน์พื้นฐานที่ผู้เรียนขาด  ซึ่งผู้สอนจะต้องระบุมโนทัศน์พื้นฐานที่ผู้เรียนขาดให้ชัดเจน
3.       ขั้นเสริมมโนทัศน์พื้นฐานให้นักเรียน ในกรณีที่นักเรียนยังขาดมโนทัศน์พื้นฐาน ผู้สอนจะต้องเสริม ซึ่งจะใช้วิธีการอธิบายโดยใช้สื่อต่างๆ ประกอบก็ได้
4.       ขั้นเรียนรู้ ประกอบด้วยขั้นตอนย่อยๆ ดังนี้
        4.1    ผู้เรียนศึกษาเนื้อหาและระบุมโนทัศน์ที่สำคัญจากบทเรียน ผู้สอนช่วยอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจชัดเจนขึ้น
       4.2    ผู้เรียนจัดลำดับมโนทัศน์จากกว้างไปยังมนโนทัศน์รอง จนกระทั่งถึงมโนทัศน์ที่เฉพาะเจาะจง
       4.3    ผู้เรียนจัดมโนทัศน์ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน
       4.4    ผู้เรียนเชื่อมโยงมโนทัศน์ต่างๆ เข้าด้วยกัน
5.ขั้นสรุปด้วยกรอบมโนทัศน์  ประกอบด้วย
       5.1    เลือกกรอบมโนทัศน์ตัวอย่าง
       5.2    ผู้เรียนนำเสนอ
       5.3    ผู้เรียนช่วยกันวิจารณ์
       5.4    ร่วมกันให้คะแนน
       5.5    ผู้สอนเสนอกรอบมโนทัศน์
       5.6    ผู้เรียนและผู้สอนช่วยกันสรุป
6.  ขั้นการประเมินผล ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันประเมินผลการเรียนรู้

2.การจัดการเรียนรู้แบบซินเนคติกส์
( Synectics  Method)
 ความหมาย
                เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนและการคิดร่วมกันเป็นกลุ่ม จัดกระบวนการเรียนรู้ตามลำดับขั้นที่กำหนดไว้  โดยอาศัยกระบวนการเปรียบเทียบ จึงจะสามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนแต่ละคนและของกลุ่มได้
 วัตถุประสงค์
1.       เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานที่แปลกใหม่ เป็นการคิดที่อิสระในหลายๆ วิธี
2.       เพื่อฝึกความกล้าในการแสดงออก  การแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมือนคนอื่น
 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
                1. ขั้นบรรยายสถานการณ์ปัจจุบัน  ผู้สอนบรรยายถึงสถานการณ์หรือหัวข้อที่น่าสนใจหรือที่ผู้เรียนกำลังสนใจ หลังจากนั้นให้ผู้เรียนทบทวนลักษณะความแตกต่าง ให้ผู้เรียนเห็นถึง ความแปลกใหม่
โดยผู้สอนกระตุ้นด้วยคำถามนำ
                2. ขั้นการเปรียบเทียบทางตรง เป็นการเปรียบเทียบระหว่างของสองสิ่งหรือมากกว่า เพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นปัญหาอีกแนวหนึ่งเพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ โดยผู้สอนใช้คำถามนำ
                3. ขั้นเปรียบเทียบกับตนเอง  เป็นการนำตนเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ซึ่งผู้เรียนต้องทำตนเหมือนสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบและบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อตนเองเป็นสิ่งนั้น เพื่อให้เกิดความคิดแปลกใหม่  โดยผู้สอนเป็นคนตั้งคำถาม
                4. ขั้นการเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่ความหมายขัดแย้งกัน  โดยนำคำจากการที่ผู้เรียนเอาตนเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆ ในขั้นตอนที่ 3 เมื่อผู้เรียนได้เลือกคำที่มีความหมายขัดแย้งกันแล้วผู้สอนให้ผู้เรียนเลือกคำที่มีความหมายขัดแย้งหรือตรงข้ามกันมากที่สุด
                5. ขั้นเปรียบเทียบทางตรง  โดยผู้สอนย้อนกลับมาใช้วิธีการเปรียบเทียบทางตรงอีกครั้ง โดยใช้คำที่มี่ความหมายขัดแย้งกันที่ผู้เรียนได้เลือกไว้ในข้อ 4 มาเป็นหลัก
                6. ขั้นสำรวจงานที่ต้องทำอีกครั้ง  ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบแล้วผู้สอนนำไปสู่ปัญหาเริ่มแรก ซึ่งผู้สอนจะต้องอธิบายหรือตั้งคำถามนำ

3. การจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ความรู้
( Constructivism)
ความหมาย
                เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ใหม่ของตนเอง โดยให้ผู้เรียนได้ศึกษา คิด ค้นคว้า ทดลอง ระดมสมอง ศึกษาจากใบความรู้ สื่อหรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีการเชื่อมโยงความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นกับความรู้เดิมที่ผู้เรียนมีอยู่แล้ว โดยผู้สอนจะเป็นผู้ช่วยเหลือ มีการตรวจสอบความรู้ใหม่ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการตรวจสอบกันเอง ระหว่างกลุ่ม หรือผู้สอนช่วยเหลือในการตรวจสอบความรู้ใหม่
 วัตถุประสงค์
                เพื่อให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยการศึกษาและปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ จากสื่อการเรียนหรือแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ
 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
1.       ขั้นปฐมนิเทศ  ผู้เรียนสร้างจุดมุ่งหมายและแรงดลใจในการเรียนรู้ในเนื้อหาที่กำหนด
2.       ขั้นทำความเข้าใจ   ผู้เรียนปรับแนวคิดปัจจุบันหรือบรรยายความเข้าใจของตนเองในหัวข้อที่กำลังเรียน โดยการทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การอภิปรายกลุ่ม  เขียนผังความคิด  การเขียนสรุปความคิด ฯลฯ
3.       ขั้นจัดโครงสร้างแนวคิดใหม่  เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ โดยประกอบด้วย
3.1  การช่วยผู้เรียนสร้างสรรค์ความรู้ ความเข้าใจใหม่ โดยผู้สอนช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดใหม่ หรือสร้างความคิดรวบยอดที่ยังไม่สมบูรณ์ขึ้นใหม่ ผู้สอนจะวินิจฉัยความเข้าใจผิดของผู้เรียน  ซึ่งสามารถทำได้โดยการสัมภาษณ์ ซักถามผู้เรียนโดยตรง
3.2  การเขียนแผนผังความคิดรวบยอด โดยผู้เรียนจัดความคิดรวบยอดของคำลงไปในโครงสร้างหรือจัดทำเป็นหมวดหมู่   ระบุความคิดรวบยอดที่ต้องการศึกษาตั้งแต่สองความคิดรวบยอดขึ้นไป  สร้างโครงสร้างความรู้ของความคิดรวบยอดเป็นแผนผังความคิดรวบยอด   นำความรู้ที่ได้มาอภิปรายร่วมกันเป็นกลุ่มและจัดทำเป็นแผนผังความคิดรวบยอดร่วมกัน
3.3  ตรวจสอบความเข้าใจว่าความคิดรวบยอดได้เกิดการเชื่อมประสานระหว่างกันและจัดระเบียบเป็นโครงสร้างความรู้แล้วหรือยัง
1.       ขั้นนำแนวความคิดไปใช้  ในสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายทั้งที่คุ้นเคยและแปลกใหม่
2.       ขั้นทบทวนหรือเปรียบเทียบความรู้  ผู้เรียนจะสะท้อนตนเองว่าแนวความคิดของตนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนเริ่มเรียนรู้อย่างไร

4. การจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT
 ความหมาย
                เป็นการจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงรูปแบบการเรียนรู้ของกลุ่มผู้เรียน 4 คุณลักษณะกับพัฒนาการสมองซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุล เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ตามแบบและความต้องการของตนเองอย่างเหมาะสมและสามารถพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
 วัตถุประสงค์
1.       เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน  กับพัฒนาการสมองซีกซ้ายและซีกขวาอย่างเท่าเทียม
2.       เพื่อให้ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความถนัดของผู้เรียนแต่ละประเภทและผู้เรียนมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
3.       เพื่อให้ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะดี มีปัญญาและมีความสุขในการเรียนรู้
 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
                ส่วนที่ 1 ผู้เรียนแบบที่ 1
                                ขั้นตอนที่  1  ขั้นสร้างคุณค่าและประสบการณ์ของสิ่งที่เรียน (สมองซีกขวา)   ผู้สอนกระตุ้นความสนใจและแรงจูงใจให้ผู้เรียนคิด โดยใช้คำถามกระตุ้นให้ผู้เรียนสังเกต  ออกไปปฏิสัมพันธ์กัยสภาพแวดล้อมจริงของสิ่งที่เรียน
                                ขั้นตอนที่ ขั้นวิเคราะห์ประสบการณ์ (สมองซีกซ้าย)  กระตุ้นให้ผู้เรียนอยากรู้และสนใจในสิ่งที่เรียน  ผู้สอนให้ผู้เรียนวิเคราะห์หาเหตุผลฝึกทำกิจกรรมกลุ่มอย่างหลากหลาย
                ส่วนที่ 2  ผู้เรียนแบบที่ 2
                                ขั้นตอนที่ 3  ขั้นปรับประสบการณ์เป็นความคิดรวบยอด (สมองซีกขวา)  เน้นให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์อย่างไตร่ตรอง นำความรู้ที่ได้มาเชื่อมโยงกับข้อมูลที่ได้ศึกษาค้นคว้า โดยจัดระบบการวิเคราะห์ เปรียบเทียบการจัดลำดับความสัมพันธ์ของสิ่งที่เรียน
                                ขั้นตอนที่ 4  ขั้นพัฒนาความคิดรวบยอด (สมองซีกซ้าย)  ผู้สอนใช้ทฤษฏี หลักการที่ลึกซึ้ง เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจ และพัฒนาความคิดรวบยอดของตนเองในเรื่องที่เรียน
                ส่วนที่ 3 ผู้เรียนแบบที่ 3
                                ขั้นตอนที่ ขั้นลงมือปฏิบัติจากกรอบความคิดที่กำหนด (สมองซีกซ้าย)  ผู้สอนให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมการทดลอง  สรุปผลการทดลองที่ถูกต้องชัดเจน
                                ขั้นตอนที่ 6  ขั้นสร้างชิ้นงานเพื่อสะท้อนความเป็นตนเอง  (สมองซีกขวา)  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างชิ้นงานตามความถนัด ความสนใจ ที่แสดงถึงความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน ให้เห็นเป็นรูปธรรมในรูปแบบต่างๆ
                ส่วนที่ 4 ผู้เรียนแบบที่ 4
                                ขั้นตอนที่ 7 ขั้นวิเคราะห์คุณค่าและการประยุกต์ใช้ (สมองซีกซ้าย)  ผู้เรียนวิเคราะห์ชิ้นงานของตนเองโดยอธิบายขั้นตอนการทำงาน ปัญหาอุปสรรคในการทำงานและวิธีการแก้ไข โดยบูรณาการการประยุกต์ใช้เพื่อเชื่อมโยงกับชีวิตจริง/อนาคต
                                ขั้นตอนที่ 8 ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้กับผู้อื่น (สมองซีกขวา) ผู้เรียนนำเสนอหรือจัดแสดงผลงานของตนเองในรูปแบบต่างๆ  และยอมรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์และข้อคิดเห็นของผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์

5. การจัดการเรียนรู้แบบ KWL
( Know-Want-Learned)
 ความหมาย
                เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับทักษะการคิดอย่างรู้ตัวว่าตนคิดอะไร มีวิธีคิดอย่างไร สามารถตรวจสอบความคิดของตนได้ และสามารถปรับเปลี่ยนกลวิธีการคิดของตนเองได้
 วัตถุประสงค์
                เพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีความตระหนักในกระบวนการเรียนรู้ของตนเองโดยมีการวางแผน ตั้งจุดมุ่งหมาย ตรวจสอบความเข้าใจของตนเอง ตลอดจนมีการจัดระบบข้อมูลความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
                1. ขั้น K (What you know)
                                เป็นการเตรียมความรู้พื้นฐานก่อนการอ่าน  เป็นการทบทวนความรู้เดิมเกี่ยวกับสิ่งที่จะเรียนรู้ ให้ผู้เรียนแต่ละคนเขียนสิ่งที่ตนรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่ผู้สอนจะให้ผู้เรียนเรียนรู้ เป็นแผนผังความคิดด้วยตนเอง
                2. ขั้น W (What  you want to know)
                                2.1 การตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่าน 
                                2.2 ผู้เรียนเขียนคำถาม/สิ่งที่อยากรู้
                                2.3 เรียนรู้หรือหาคำตอบ
                3. ขั้น L (What  you have learned)  หลังจากการอ่านให้ผู้เรียนเขียนคำตอบที่ได้ลงในกระดาษเปล่ารวมทั้งเขียนข้อมูลอื่นๆ ที่ศึกษาเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ได้ตั้งคำถามไว้
                4. ขั้นการเขียนสรุปและนำเสนอ 
                                4.1 ปรับแผนผังความคิดเดิม
                                4.2 นำเสนอ

วิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ (Role Playing)

วิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ  (Role Playing)

         การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้และเข้าใจได้ด้วยตนเอง โดยเน้นกิจกรรมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ เป็นอีกวิธีสอนหนึ่งที่จะให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน ให้ผู้เรียนได้แสดงออก ทั้งทางด้านความคิดและท่าทางการแสดง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ได้เกิดความสนุกสนานและเพลิดเพลิน
                    ระวีวรรณ วุฒิประสิทธิ์ (2530  : 74) กล่าวถึงการสอนแบบการแสดงบทบาทสมมติ ว่าเป็นการสอนที่กำหนดให้ผู้เรียนแสดงบทบทตามที่สมมติขึ้นเทียบเคียงกับสภาพที่เป็นจริง ตามลักษณะที่ผู้แสดงบทบาทเข้าใจ  เพื่อให้ผู้ดูเกิดความรู้  ความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น หลักสำคัญของการสอนแบบนี้คือ ผู้สอนจะสร้างปัญหาให้ผู้เรียนได้คิดและให้ผู้เรียนแก้ปัญหานั้นๆ ให้ได้ด้วยตนเอง ด้วยการแสดงที่ทำให้ได้ด้วยตัวเอง ด้วยการแสดงที่ทำให้ผู้ดูเห็นจริง วิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติจึงนับว่าเป็นวิธีการฝึกการแก้ปัญหาและการตัดสินใจวิธีหนึ่ง เพราะในสถานการณ์ที่สมมติขึ้นมาและบทบาทที่สมมติขึ้นมาให้คล้ายคลึงกับสิ่งที่เป็นจริงนั้น  มักจะมีปัญหาและข้อขัดแย้งต่าง ๆ  แฝงมาด้วย  การที่ให้ผู้เรียนได้เลือกที่จะแสดงบทบาทต่าง ๆ  โดยไม่ต้องใดหรือเตรียมตัวมาก่อนนั้น  ผู้แสดงจะต้องแสดงไปตามธรรมชาติโดยที่ไม่รู้ว่าผู้แสดงคนอื่นจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรนั้น  นับว่าเป็นการช่วยฝึกให้ผู้แสดงได้เรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมและหาทางแก้ปัญหาตัดสินใจอย่างธรรมชาติ 
                    ในบทนี้กล่าวถึง ความหมายของการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ  จุดมุ่งหมาย   องค์ประกอบ  ลักษณะสำคัญของการสอน  ขั้นตอนการสอน บทบาทของผู้สอน  เทคนิคข้อเสนอแนะที่ใช้ในการสอน และข้อดีและข้อจำกัดของการสอน พร้อมด้วยการสรุปท้ายบท กิจกรรมและคำถามท้ายบทด้วย

ความหมาย
                    ทิศนา  แขมมณี (2550 : 358) กล่าวถึงวิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ  คือ  กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด  โดยการให้ผู้เรียนสวมบทบาทในสถานการณ์ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง  และแสดงออกมาตามความรู้สึกนึกคิดของตน  และนำเอาการแสดงออกของผู้แสดง  ทั้งทางด้านความรู้  ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมที่สังเกตพบว่าเป็นข้อมูลใน  การอภิปราย  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ 
                    สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 67) กล่าวว่าวิธีสอนที่ใช้บทบาทที่สมมติขึ้นจากความเป็นจริงมาเป็นเครื่องมือในการสอนโดยที่ครูสร้างสถานการณ์สมมติและบทบาทขึ้นมาให้นักเรียนได้แสดงออกตามที่ตนคิดว่าควรจะเป็น  มีการนำการแสดงออกทั้งทางด้านความรู้ความคิด  และพฤติกรรมของผู้แสดงมาใช้เป็นพื้นฐานในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่นักเรียนในเรื่องความรู้สึกและพฤติกรรม  และปัญหาต่าง ๆ  ได้อย่างเหมาะสม 
                    อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 160) อธิบายถึง  วิธีสอนโดยใช้บทบาทสมมติ  หมายถึง  วิธีสอนที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติขึ้นจากความเป็นจริง  มาให้ผู้เรียนได้แสดงออกตามที่ผู้เรียนคิดว่าควรจะเป็น  ผู้สอนจะใช้การแสดงออกทั้งทางด้านความรู้ความคิด  และพฤติกรรมของผู้แสดงมาเป็นพื้นฐานในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้เรียน  อันจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระของบทเรียนอย่างลึกซึ้ง  และรู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
                    บุญชม  ศรีสะอาด (2541 : 161) กล่าวถึงการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ (Role  Playing)  คือ  เทคนิคการสอนที่ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทในสถานการณ์ที่สมมติขึ้น  นั่นคือ แสดงบทบาทที่กำหนดให้ 
                    อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 98)  อธิบายการสอนด้วยบทบาทสมมติ  หมายถึง  วิธีสอนที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงออกตามที่ตนคิดว่าควรจะเป็น  โดยแสดงออกทั้งทางด้านความรู้  ความคิด  และพฤติกรรมเพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ 
                    สรุปได้ว่า วิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ หมายถึง การสอนที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติขึ้นมาที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้แสดงบทบาทสมมตินั้นๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้สอนได้กำหนดไว้ เพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงออกทางด้านความรู้ ความคิด ที่คิดว่าตนควรจะเป็น

จุดมุ่งหมายของการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ
                    ทิศนา  แขมมณี (2550 : 358) กล่าวว่าวิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การเอาใจเขามาใส่ใจเรา  เกิดความเข้าใจในความรู้สึกและพฤติกรรมทั้งของตนเองและผู้อื่นหรือเกิดความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ  เกี่ยวกับบทบาทสมมติที่ตนแสดง 
                    สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 67) อธิบายถึงความมุ่งหมายของการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ ดังนี้
                    1. เพื่อฝึกให้นักเรียนทำงานร่วมกัน
                    2. เพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงออกซึ่งความรู้สึก
                    3. เพื่อฝึกการแก้ปัญหา
                    สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540  : 106) กล่าวถึงเป้าหมายการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติว่า การแสดงบทบาทสมมติเป็นการนำเอาตัวอย่างพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในสังคมมาให้ผู้เรียนได้ศึกษา  ซึ่งผลที่จะได้รับจากการศึกษาโดยวิธีการดังกล่าวจะทำให้
                    1. ผู้เรียนได้มีโอกาสสำรวจความรู้สึกของบุคคลอื่น ๆ  และเมื่อสำรวจแล้วก็จะสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้นในเชิงเจตคติ
                    2. ผู้เรียนได้มีโอกาสในการศึกษาความสัมพันธ์และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม
                    3. ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกฝนวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่ม  ในบุคคล  หรือระหว่างบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                    4. ผู้เรียนได้มีโอกาสพัฒนาค่านิยมในเรื่องความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น
                    5. ผู้เรียนสามารถสำรวจเจตคติของตนเอง  รวมทั้งแก้ไขข้อบกพร่องโดยการเรียนรู้จากเจตคติของผู้อื่นที่มีต่อตนเอง
                    อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 160) กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการแสดงบทบาทสมมติไว้ว่า
                    1. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในพฤติกรรมและความรู้สึกของผู้อื่น
                    2. เพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่เหมาะสม
                    3. เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ความรู้ความคิดในการแก้ปัญหา  และการตัดสินใจ
                    4. เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงออก  ได้เรียนด้วยความเพลิดเพลิน
                    5. เพื่อให้การเรียนการสอนมีความใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น
                    อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 98-99) อธิบายถึงความมุ่งหมายของการสอน ดังนี้
                    1. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในพฤติกรรมและความรู้สึกของผู้อื่น
                    2. เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ความรู้  ความคิด  ความสามารถในการแก้ปัญหาและ      การตัดสินใจ
                    3. เพื่อให้การเรียนการสอนมีความใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด
                    4. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีความกล้าที่จะแสดงออก
                   และ ระวีวรรณ วุฒิประสิทธิ์ (2530 : 74-75)  อธิบายถึงจุดมุ่งหมายในการใช้บทบาทสมมติ ไว้ดังนี้ 
                    1. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเจตคติ  และความคิดต่าง ๆ  ได้กว้างขวางขึ้น
                    2. เพื่อให้ผู้สอนทราบถึงเจตคติและความคิดของผู้เรียน
                    3. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ  ของสังคมได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
                    4. เพื่อเตรียมผู้เรียนในการปฏิบัติเทคนิคบางอย่างในสถานการณ์จริง
                    5. เพื่อช่วยในการทดสอบสมมติฐานสำหรับการแก้ปัญหา
                    6. เพื่อฝึกความเป็นผู้นำและทักษะอื่น ๆ  ทางสังคมให้แก่ผู้เรียน

                    สรุปได้ว่า การสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ มุ่งฝึกการทำงานร่วมกัน กล้าคิด กล้าแสดงออกในการแก้ปัญหา การตัดสินใจ ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อมากยิ่งขึ้น ลดความตึงเครียด เพราะเป็นการสอนที่ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด

ลักษณะสำคัญของการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ
                    ลักษณะของบทบาทสมมติ  (อาภรณ์   ใจเที่ยง, 2550 : 160-161) บทบาทสมมติที่ผู้เรียนแสดงออกแบ่งได้เป็น 2  ลักษณะ  คือ
                    1. การแสดงบทบาทสมมติแบบละคร  เป็นการแสดงบทบาทตามเรื่องราวที่มีอยู่แล้ว     ผู้แสดงจะได้ทราบเรื่องราวทั้งหมด  แต่จะไม่ได้รับบทที่กำหนดให้แสดงตามอย่างละเอียด ผู้แสดงจะต้องแสดงออกตามความคิดของตน  และดำเนินเรื่องไปตามท้องเรื่องที่กำหนดไว้แล้วซึ่งมีลักษณะเหมือนละคร
                    2. การแสดงบทบาทสมมติแบบแก้ปัญหา  เป็นการแสดงบทบาทสมมติที่ผู้เรียนได้รับทราบสถานการณ์หรือเรื่องราวแต่เพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น  ซึ่งมักเป็นสถานการณ์ที่เป็นปัญหาหรือมีความขัดแย้งแฝงอยู่  ผู้แสดงบทบาทจะใช้ความคิดของตนในการแสดงออกและแก้ปัญหาต่าง ๆ  อย่างเสรี
                    บุญชม  ศรีสะอาด (2541 : 161) กล่าวถึง การแสดงบทบาทสมมติว่า แตกต่างจากเกมจำลองสถานการณ์ตรงที่ไม่มีกฎเกณฑ์และการแข่งขัน  กล่าวคือ  เป็นการสอนที่หยิบยกเอาเหตุการณ์  ประเด็นหรือปัญหาขึ้นมาให้ผู้เรียนศึกษา  โดยวิธีการให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น  เข้าใจถึงปัญหาในเหตุการณ์นั้น ๆ  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น  เข้าใจถึงปัญหาในเหตุการณ์นั้น ๆ  ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยนั้น 
                    สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข ( (2540 : 105) ได้กล่าวว่าการแสดงบทบาทสมมติจะส่งเสริมผู้เรียนให้แสดงพฤติกรรมหรือบทบาทต่าง ๆ กันไปตามบทบาทที่กำหนดไว้ในเหตุการณ์  พฤติกรรมที่ผู้เรียนซึ่งเป็นผู้แสดงบทบาทแสดงออกมานั้นจะสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึก  อารมณ์  เจตคติของผู้แสดงที่มีต่อบทบาทหรือพฤติกรรมที่ผู้แสดงสวมบทบาทนั้นอยู่  รวมทั้งเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้อื่นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือปัญหานั้นด้วย 
                    การที่จะให้ผู้เรียนเข้าใจว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนั้นไม่ดี  หรือบุคคลนั้นมีพฤติกรรมอย่างนั้น  ทำไมไม่มีพฤติกรรมอย่างนี้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  บางครั้งจะสอนโดยตรงไม่ได้  ผู้เรียนจะไม่เข้าใจ  แต่ถ้าใช้การสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ  จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจพฤติกรรมของบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์หรือปัญหานั้นได้ดีและกระจ่างยิ่งขึ้น 
                    นอกจากนี้  เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 260-261) กล่าวว่าการใช้บทบาทสมมติในการเรียนการสอน  บทบาทสมมติเป็นเครื่องมือและวิธีการอย่างหนึ่งที่ใช้ในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องที่เรียน  โดยที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์สมมติและบทบาทสมมติขึ้น  ให้ผู้เรียนได้แสดงออกมาตามที่ตนคิดว่าควรจะเป็น  และถือเอาการแสดงออกทั้งทางความรู้และพฤติกรรมของผู้แสดงมาเป็นข้ออภิปรายเพื่อการเรียนรู้ 
                    การแสดงบทบาทสมติเป็นการฝึกให้ผู้แสดงได้ประสบการณ์จริงในสภาพของการสมมติขึ้นมา  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดลองและเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมของตนอย่างมีประสิทธิภาพในสภาวะต่างๆ ได้
                 
  นอกจากนี้ จำเริญ  ชูช่วยสุวรรณ (2544 : 50-51) กล่าวถึงวิธีแสดงบทบาทสมมติทำได้  3  วิธีคือ 
                    1. การแสดงแบบละคร การแสดงแบบนี้ผู้แสดงจะต้องฝึกซ้อมก่อน  เช่น  อาจจะซ้อมท่าทาง  ฝึกซ้อมบทพูด  ตามบทบาทของตัวละครในเรื่องที่แสดง  ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องบทเรียน วรรณคดี  หรือบทเรียนประวัติศาสตร์ก็ได้
                    2. การแสดงทันทีทันใจ  การแสดงแบบนี้  ผู้แสดงไม่ต้องเตรียมตัวฝึกซ้อม  แต่เมื่อเรียนถึงเรื่องใดก็ให้นักเรียนแสดงได้ทันที  เช่น  แสดงเป็นตำรวจ  แสดงเป็นบุรุษไปรษณีย์ แสดงเป็นพ่อ  เป็นลูก  ฯลฯ  โดยให้นักเรียนแสดงไปตามความนึกคิดของนักเรียนเองให้เหมาะสมกับบทบาทที่รับมา
                    3. การแสดงโดยครูหรือนักเรียนช่วยกันกำหนดเรื่องให้การแสดงแบบนี้ผู้แสดงจะต้องแสดงไปตามเรื่องที่กำหนดแต่อาจจะแต่งเติมบทของตนเองเข้าไปบ้างก็ได้ตามความเหมาะสม
                    จากประเภทของการสอนโดยใช้การแสดงละครที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า นักวิชาการได้แบ่งประเภทของการสอนไว้แตกต่างกัน ซึ่งพอจะสรุปได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ผู้แสดงเป็นจะต้องเป็นผู้แสดงบทบาทตามที่ถูกกำหนดไว้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับความรู้
ความรู้สึกส่วนตัว
2. ผู้แสดงจะต้องแสดบทบาทตามแบบแผนพฤติกรรมของตนเอง
3. การแสดงบทบาทที่ผู้แสดงจะต้องเตรียมตัวก่อนการแสดงละคร
4. การแสดงบทบาทที่ผู้แสดงต้องแสดงบทบาทโดยทันที ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า
                   
องค์ประกอบของการสอนแบบบทบาทสมมติ

                    ทิศนา  แขมมณี (2550 : 358) กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ  (ที่ขาดไม่ได้)  ของวิธีสอนแบบบทบาทสมมติ ไว้ดังนี้ 
                    1. มีผู้สอนและผู้เรียน
                    2. มีสถานการณ์สมมติและบทบาทสมมติ
                    3. มีการแสดงบทบาทสมติ
                    4. มีการอภิปรายเกี่ยวกับความรู้  ความคิด  ความรู้สึก  และพฤติกรรมที่แสดงออกของ    ผู้แสดง  และสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ
                    5. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
                    สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540  : 106) กล่าวถึงองค์ประกอบของการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ มีดังนี้ 
                    1. ผู้แสดงและผู้สังเกตการณ์
                    การแสดงบทบาทสมติ  เมื่อนำมาปฏิบัติในห้องเรียนแล้วจะแยกกลุ่มผู้เรียนออกเป็น  2  กลุ่ม  คือ  กลุ่มผู้แสดงเป็นกลุ่มที่ได้รับมอบหมายบทบาทจากครูผู้สอนแล้ว  จากการวางแผน  การเรียนการสอนของผู้เรียนทั้งชั้นให้แสดงบทบาทต่าง ๆ  กัน  กับกลุ่มผู้ชมซึ่งจะเป็นกลุ่มสังเกตการณ์  โดยจะนำผลจากการสังเกตไปอภิปรายภายหลัง
                    2. เหตุการณ์  ประเด็น  หรือปัญหา  ซึ่งอาจจะหยิบยกจากในแบบเรียน  หรือผู้สอนสร้างขึ้นใหม่เองตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ว่าจะให้ผู้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นั้น  โดยทั่วไป  ผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดเหตุการณ์เอง  และนำเหตุการณ์นั้น ๆ  มาเสนอแก่ผู้เรียนเพื่อการแสดงต่อไป
                    3. ฉากและสื่อการสอน  ฉากมีเพียงที่จำเป็นเท่านั้น  หรืออาจไม่ใช้เลยก็ได้  ส่วนสื่อ   การสอนก็เช่นกัน  จำเป็นไม่มากนัก  ทั้งนี้เพราะความสำคัญของการเรียนการสอนด้วยการแสดงบทบาทสมมติขึ้นอยู่กับบทบาทของผู้แสดงมากกว่าสิ่งใด

ขั้นตอนของการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ
                    ทิศนา  แขมมณี  (2550 : 358-359) อธิบายขั้นตอนสำคัญของการสอนไว้ดังนี้ 
                    1. ผู้สอน / ผู้เรียน  นำเสนอสถานการณ์สมมติและบทบาทสมมติ
                    2. ผู้สอน / ผู้เรียนเลือกผู้แสดงบทบาท
                    3. ผู้สอนเตรียมผู้สังเกตการณ์
                    4. ผู้เรียนแสดงบทบาท  และสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออก
                    5. ผู้สอนและผู้เรียน  อภิปรายเกี่ยวกับความรู้  ความคิด  ความรู้สึก  และพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้แสดง
                    6. ผู้สอนและผู้เรียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ
                    7. ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

                    สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 67) กล่าวถึงขั้นตอนในการสอนแบบบทบาทสมมติ ไว้ดังนี้ 
                    1. เลือกปัญหาที่นักเรียนส่วนมากในชั้นเรียนพบบ่อย ๆ  หรือเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก    จดจำยาก  สับสน  กล่าวตามสภาพจริง  หรือได้ก็ไม่เหมาะสม
                    2. กำหนดตัวบุคคลให้เหมาะสมกับบทบาทนั้น ๆ  เท่าที่ลักษณะของบุคคลเอื้ออำนวยให้กับสภาพความเป็นจริง
                    อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 161-163) อ้างใน กรมวิชาการ (2527 : 37 – 40) ได้เสนอขั้นตอนที่สำคัญของการสอนโดยใช้บทบาทสมมติมี  5  ขั้นตอน  ในแต่ละขั้นตอนมีวิธีการสอน ดังนี้ 
                    1.  ขั้นเตรียมการสอน  เป็นการเตรียมใน  2  หัวข้อใหญ่ ได้แก่
                           1.1  เตรียมจุดประสงค์ของการแสดงบทบาทสมมติให้แน่ชัดและเฉพาะเจาะจงว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรบ้างจากการแสดง
                           1.2  เตรียมสถานการณ์สมมติ  เพื่อให้ผู้เรียนฟังโดยให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้  การเตรียมสถานการณ์และบทบาทสมมตินี้อาจเตรียมเขียนไว้อย่างละเอียดเพื่อมอบให้แก่ผู้เรียน  หรือเตรียมเฉพาะสถานการณ์เพื่อเล่าให้ผู้เรียนฟัง  ส่วนรายละเอียดผู้เรียนต้องคิดเอง
                    2. ขั้นดำเนินการสอน  จัดแบ่งย่อยได้  7   ขั้นตอน  ดังนี้
                           2.1  ขั้นนำเข้าสู่การแสดงบทบาทสมมติ  เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรม  โดยผู้สอนอาจใช้วิธีโยงประสบการณ์ใกล้ตัวผู้เรียน          เล่าเรื่องราว  หรือสถานการณ์สมมติ  ชี้แจงประโยชน์ของการแสดงบทบาทสมมติ  และการร่วมกันช่วยกันแก้ปัญหา
                           2.2  เลือกผู้แสดง เมื่อผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมแล้วผู้สอนจะจัดตัวผู้แสดงในบทบาทต่าง ๆ  ในการเลือกตัวผู้แสดงนั้นอาจใช้วิธีดังนี้
                                1) เลือกอย่างเจาะจง  เช่น  เลือกผู้ที่มีปัญหาออกมาแสดง  เขาได้รู้สึกในปัญหาและเห็นวิธีแก้ปัญหา
                                2) เลือกผู้ที่มีบุคลิกลักษณะคุณสมบัติ  มีความสามารถเหมาะสมกับบทบาทที่กำหนดให้
                                3) เลือกผู้แสดงโดยให้อาสาสมัคร เพื่อให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียน  การตัดสินใจ
                           2.3  การเตรียมความพร้อมของผู้แสดง  เมื่อเลือกผู้แสดงได้แล้ว  ผู้สอนควรให้เวลา  ผู้แสดงได้เตรียมตัวและตกลงกันก่อนการแสดง  ผู้สอนควรช่วยให้กำลังใจ  ช่วยขจัดความตื่นเต้นประหม่า และความวิตกกังวลต่าง ๆ  เพื่อผู้แสดงได้แสดงอย่างเป็นธรรมชาติ
                           2.4  การจัดฉากการแสดง  การจัดฉากการแสดงอาจจะจัดแบบง่าย ๆ  คำนึงถึงความประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร  เช่น  อาจสมมติโดยการเลื่อนโต๊ะเพียงตัวเดียว  เพราะการจัดฉากนี้เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยของการแสดง 
                           2.5  การเตรียมผู้สังเกตการณ์  ในขณะที่ผู้แสดงเตรียมตัว  ผู้สอนควรได้ใช้เวลานั้นเตรียมผู้ชมด้วย  โดยควรทำความเข้าใจกับผู้ชมว่าควรสังเกตอะไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อ            การวิเคราะห์และอภิปรายในภายหลัง  ผู้สอนอาจเตรียมหัวข้อการสังเกต  หรือจัดทำแบบสังเกตการณ์เตรียมไว้ให้พร้อม  แล้วเลือกผู้สังเกตการณ์ช่วยกันดู    และบันทึกพฤติกรรมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อย ๆ  ไป
                           2.6  การแสดง  เมื่อทุกฝ่ายพร้อมแล้วจึงเริ่มแสดง  การแสดงนี้ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ  ผู้สอนและผู้ชมไม่ควรเข้าขัดกลางคัน  นอกจากในกรณีที่ผู้แสดงต้องการ          ความช่วยเหลือ  ในขณะที่แสดงผู้สอนควรสังเกตพฤติกรรมของผู้แสดงและผู้ชมอย่างใกล้ชิด