วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

รูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ




รูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ วิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ

                 การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับปรับปรุง  พ.ศ. 2545  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551   มาตรฐานการศึกษาและแนวคิดการปฏิรูปการศึกษานั้นกำหนดให้ผู้สอนจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างหลากหลาย เหมาะสมกับธรรมชาติและสนองความต้องการ ความสนใจ  ความถนัดของผู้เรียน ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการการเผชิญสถานการณ์และประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา  มีการจัดการเรียนรู้ที่ผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกวิชา การที่ผู้สอนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับหลักการหรือวิธีการที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นนั้น ผู้สอนจำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการสอน วิธีการสอน เทคนิคการสอนหรือวิธีจัดการเรียนรู้แบบต่างๆ ก่อนที่จะนำไปเขียนแผนการเรียนรู้  ซึ่งข้าพเจ้าใคร่นำเสนอรูปแบบการสอนซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวข้างต้น 5 รูปแบบดังนี้

1. การจัดการเรียนรู้แบบจัดกรอบมโนทัศน์
( Concept  Mapping  Technique)
  ความหมาย  
                เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนนำมโนทัศน์ในเนื้อหาสาระที่ได้เรียนรู้มาจัดระบบ จัดลำดับ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์แต่ละมโนทัศน์ที่มีความเกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดกรอบมโนทัศน์ขึ้น
 วัตถุประสงค์
1.       เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้จักสังเกต เปรียบเทียบ สรุปและจำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ จัดเป็นระบบหรือหมวดหมู่ได้อย่างถูกต้อง
2.       ฝึกให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้า คิดเพื่อให้ได้ความรู้และสามารถสร้างความคิดรวบยอดด้วยตนเอง
3.       เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างและสรุปความรู้ด้วยการจัดกรอบมโนทัศน์รูปแบบต่างๆ ได้
 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
1.       ขั้นตรวจสอบมโนทัศน์พื้นฐาน ผู้สอนตรวจสอบมโนทัศน์พื้นฐานของผู้เรียนเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้ผู้เรียนเรียนรู้ ซึ่งอาจทำได้โดยให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหรือตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบ
2.       ขั้นระบุมโนทัศน์พื้นฐานที่ผู้เรียนขาด  ซึ่งผู้สอนจะต้องระบุมโนทัศน์พื้นฐานที่ผู้เรียนขาดให้ชัดเจน
3.       ขั้นเสริมมโนทัศน์พื้นฐานให้นักเรียน ในกรณีที่นักเรียนยังขาดมโนทัศน์พื้นฐาน ผู้สอนจะต้องเสริม ซึ่งจะใช้วิธีการอธิบายโดยใช้สื่อต่างๆ ประกอบก็ได้
4.       ขั้นเรียนรู้ ประกอบด้วยขั้นตอนย่อยๆ ดังนี้
        4.1    ผู้เรียนศึกษาเนื้อหาและระบุมโนทัศน์ที่สำคัญจากบทเรียน ผู้สอนช่วยอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจชัดเจนขึ้น
       4.2    ผู้เรียนจัดลำดับมโนทัศน์จากกว้างไปยังมนโนทัศน์รอง จนกระทั่งถึงมโนทัศน์ที่เฉพาะเจาะจง
       4.3    ผู้เรียนจัดมโนทัศน์ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน
       4.4    ผู้เรียนเชื่อมโยงมโนทัศน์ต่างๆ เข้าด้วยกัน
5.ขั้นสรุปด้วยกรอบมโนทัศน์  ประกอบด้วย
       5.1    เลือกกรอบมโนทัศน์ตัวอย่าง
       5.2    ผู้เรียนนำเสนอ
       5.3    ผู้เรียนช่วยกันวิจารณ์
       5.4    ร่วมกันให้คะแนน
       5.5    ผู้สอนเสนอกรอบมโนทัศน์
       5.6    ผู้เรียนและผู้สอนช่วยกันสรุป
6.  ขั้นการประเมินผล ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันประเมินผลการเรียนรู้

2.การจัดการเรียนรู้แบบซินเนคติกส์
( Synectics  Method)
 ความหมาย
                เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนและการคิดร่วมกันเป็นกลุ่ม จัดกระบวนการเรียนรู้ตามลำดับขั้นที่กำหนดไว้  โดยอาศัยกระบวนการเปรียบเทียบ จึงจะสามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนแต่ละคนและของกลุ่มได้
 วัตถุประสงค์
1.       เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานที่แปลกใหม่ เป็นการคิดที่อิสระในหลายๆ วิธี
2.       เพื่อฝึกความกล้าในการแสดงออก  การแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมือนคนอื่น
 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
                1. ขั้นบรรยายสถานการณ์ปัจจุบัน  ผู้สอนบรรยายถึงสถานการณ์หรือหัวข้อที่น่าสนใจหรือที่ผู้เรียนกำลังสนใจ หลังจากนั้นให้ผู้เรียนทบทวนลักษณะความแตกต่าง ให้ผู้เรียนเห็นถึง ความแปลกใหม่
โดยผู้สอนกระตุ้นด้วยคำถามนำ
                2. ขั้นการเปรียบเทียบทางตรง เป็นการเปรียบเทียบระหว่างของสองสิ่งหรือมากกว่า เพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นปัญหาอีกแนวหนึ่งเพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ โดยผู้สอนใช้คำถามนำ
                3. ขั้นเปรียบเทียบกับตนเอง  เป็นการนำตนเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ซึ่งผู้เรียนต้องทำตนเหมือนสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบและบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อตนเองเป็นสิ่งนั้น เพื่อให้เกิดความคิดแปลกใหม่  โดยผู้สอนเป็นคนตั้งคำถาม
                4. ขั้นการเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่ความหมายขัดแย้งกัน  โดยนำคำจากการที่ผู้เรียนเอาตนเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆ ในขั้นตอนที่ 3 เมื่อผู้เรียนได้เลือกคำที่มีความหมายขัดแย้งกันแล้วผู้สอนให้ผู้เรียนเลือกคำที่มีความหมายขัดแย้งหรือตรงข้ามกันมากที่สุด
                5. ขั้นเปรียบเทียบทางตรง  โดยผู้สอนย้อนกลับมาใช้วิธีการเปรียบเทียบทางตรงอีกครั้ง โดยใช้คำที่มี่ความหมายขัดแย้งกันที่ผู้เรียนได้เลือกไว้ในข้อ 4 มาเป็นหลัก
                6. ขั้นสำรวจงานที่ต้องทำอีกครั้ง  ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบแล้วผู้สอนนำไปสู่ปัญหาเริ่มแรก ซึ่งผู้สอนจะต้องอธิบายหรือตั้งคำถามนำ

3. การจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ความรู้
( Constructivism)
ความหมาย
                เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ใหม่ของตนเอง โดยให้ผู้เรียนได้ศึกษา คิด ค้นคว้า ทดลอง ระดมสมอง ศึกษาจากใบความรู้ สื่อหรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีการเชื่อมโยงความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นกับความรู้เดิมที่ผู้เรียนมีอยู่แล้ว โดยผู้สอนจะเป็นผู้ช่วยเหลือ มีการตรวจสอบความรู้ใหม่ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการตรวจสอบกันเอง ระหว่างกลุ่ม หรือผู้สอนช่วยเหลือในการตรวจสอบความรู้ใหม่
 วัตถุประสงค์
                เพื่อให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยการศึกษาและปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ จากสื่อการเรียนหรือแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ
 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
1.       ขั้นปฐมนิเทศ  ผู้เรียนสร้างจุดมุ่งหมายและแรงดลใจในการเรียนรู้ในเนื้อหาที่กำหนด
2.       ขั้นทำความเข้าใจ   ผู้เรียนปรับแนวคิดปัจจุบันหรือบรรยายความเข้าใจของตนเองในหัวข้อที่กำลังเรียน โดยการทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การอภิปรายกลุ่ม  เขียนผังความคิด  การเขียนสรุปความคิด ฯลฯ
3.       ขั้นจัดโครงสร้างแนวคิดใหม่  เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ โดยประกอบด้วย
3.1  การช่วยผู้เรียนสร้างสรรค์ความรู้ ความเข้าใจใหม่ โดยผู้สอนช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดใหม่ หรือสร้างความคิดรวบยอดที่ยังไม่สมบูรณ์ขึ้นใหม่ ผู้สอนจะวินิจฉัยความเข้าใจผิดของผู้เรียน  ซึ่งสามารถทำได้โดยการสัมภาษณ์ ซักถามผู้เรียนโดยตรง
3.2  การเขียนแผนผังความคิดรวบยอด โดยผู้เรียนจัดความคิดรวบยอดของคำลงไปในโครงสร้างหรือจัดทำเป็นหมวดหมู่   ระบุความคิดรวบยอดที่ต้องการศึกษาตั้งแต่สองความคิดรวบยอดขึ้นไป  สร้างโครงสร้างความรู้ของความคิดรวบยอดเป็นแผนผังความคิดรวบยอด   นำความรู้ที่ได้มาอภิปรายร่วมกันเป็นกลุ่มและจัดทำเป็นแผนผังความคิดรวบยอดร่วมกัน
3.3  ตรวจสอบความเข้าใจว่าความคิดรวบยอดได้เกิดการเชื่อมประสานระหว่างกันและจัดระเบียบเป็นโครงสร้างความรู้แล้วหรือยัง
1.       ขั้นนำแนวความคิดไปใช้  ในสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายทั้งที่คุ้นเคยและแปลกใหม่
2.       ขั้นทบทวนหรือเปรียบเทียบความรู้  ผู้เรียนจะสะท้อนตนเองว่าแนวความคิดของตนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนเริ่มเรียนรู้อย่างไร

4. การจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT
 ความหมาย
                เป็นการจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงรูปแบบการเรียนรู้ของกลุ่มผู้เรียน 4 คุณลักษณะกับพัฒนาการสมองซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุล เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ตามแบบและความต้องการของตนเองอย่างเหมาะสมและสามารถพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
 วัตถุประสงค์
1.       เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน  กับพัฒนาการสมองซีกซ้ายและซีกขวาอย่างเท่าเทียม
2.       เพื่อให้ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความถนัดของผู้เรียนแต่ละประเภทและผู้เรียนมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
3.       เพื่อให้ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะดี มีปัญญาและมีความสุขในการเรียนรู้
 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
                ส่วนที่ 1 ผู้เรียนแบบที่ 1
                                ขั้นตอนที่  1  ขั้นสร้างคุณค่าและประสบการณ์ของสิ่งที่เรียน (สมองซีกขวา)   ผู้สอนกระตุ้นความสนใจและแรงจูงใจให้ผู้เรียนคิด โดยใช้คำถามกระตุ้นให้ผู้เรียนสังเกต  ออกไปปฏิสัมพันธ์กัยสภาพแวดล้อมจริงของสิ่งที่เรียน
                                ขั้นตอนที่ ขั้นวิเคราะห์ประสบการณ์ (สมองซีกซ้าย)  กระตุ้นให้ผู้เรียนอยากรู้และสนใจในสิ่งที่เรียน  ผู้สอนให้ผู้เรียนวิเคราะห์หาเหตุผลฝึกทำกิจกรรมกลุ่มอย่างหลากหลาย
                ส่วนที่ 2  ผู้เรียนแบบที่ 2
                                ขั้นตอนที่ 3  ขั้นปรับประสบการณ์เป็นความคิดรวบยอด (สมองซีกขวา)  เน้นให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์อย่างไตร่ตรอง นำความรู้ที่ได้มาเชื่อมโยงกับข้อมูลที่ได้ศึกษาค้นคว้า โดยจัดระบบการวิเคราะห์ เปรียบเทียบการจัดลำดับความสัมพันธ์ของสิ่งที่เรียน
                                ขั้นตอนที่ 4  ขั้นพัฒนาความคิดรวบยอด (สมองซีกซ้าย)  ผู้สอนใช้ทฤษฏี หลักการที่ลึกซึ้ง เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจ และพัฒนาความคิดรวบยอดของตนเองในเรื่องที่เรียน
                ส่วนที่ 3 ผู้เรียนแบบที่ 3
                                ขั้นตอนที่ ขั้นลงมือปฏิบัติจากกรอบความคิดที่กำหนด (สมองซีกซ้าย)  ผู้สอนให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมการทดลอง  สรุปผลการทดลองที่ถูกต้องชัดเจน
                                ขั้นตอนที่ 6  ขั้นสร้างชิ้นงานเพื่อสะท้อนความเป็นตนเอง  (สมองซีกขวา)  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างชิ้นงานตามความถนัด ความสนใจ ที่แสดงถึงความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน ให้เห็นเป็นรูปธรรมในรูปแบบต่างๆ
                ส่วนที่ 4 ผู้เรียนแบบที่ 4
                                ขั้นตอนที่ 7 ขั้นวิเคราะห์คุณค่าและการประยุกต์ใช้ (สมองซีกซ้าย)  ผู้เรียนวิเคราะห์ชิ้นงานของตนเองโดยอธิบายขั้นตอนการทำงาน ปัญหาอุปสรรคในการทำงานและวิธีการแก้ไข โดยบูรณาการการประยุกต์ใช้เพื่อเชื่อมโยงกับชีวิตจริง/อนาคต
                                ขั้นตอนที่ 8 ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้กับผู้อื่น (สมองซีกขวา) ผู้เรียนนำเสนอหรือจัดแสดงผลงานของตนเองในรูปแบบต่างๆ  และยอมรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์และข้อคิดเห็นของผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์

5. การจัดการเรียนรู้แบบ KWL
( Know-Want-Learned)
 ความหมาย
                เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับทักษะการคิดอย่างรู้ตัวว่าตนคิดอะไร มีวิธีคิดอย่างไร สามารถตรวจสอบความคิดของตนได้ และสามารถปรับเปลี่ยนกลวิธีการคิดของตนเองได้
 วัตถุประสงค์
                เพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีความตระหนักในกระบวนการเรียนรู้ของตนเองโดยมีการวางแผน ตั้งจุดมุ่งหมาย ตรวจสอบความเข้าใจของตนเอง ตลอดจนมีการจัดระบบข้อมูลความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
                1. ขั้น K (What you know)
                                เป็นการเตรียมความรู้พื้นฐานก่อนการอ่าน  เป็นการทบทวนความรู้เดิมเกี่ยวกับสิ่งที่จะเรียนรู้ ให้ผู้เรียนแต่ละคนเขียนสิ่งที่ตนรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่ผู้สอนจะให้ผู้เรียนเรียนรู้ เป็นแผนผังความคิดด้วยตนเอง
                2. ขั้น W (What  you want to know)
                                2.1 การตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่าน 
                                2.2 ผู้เรียนเขียนคำถาม/สิ่งที่อยากรู้
                                2.3 เรียนรู้หรือหาคำตอบ
                3. ขั้น L (What  you have learned)  หลังจากการอ่านให้ผู้เรียนเขียนคำตอบที่ได้ลงในกระดาษเปล่ารวมทั้งเขียนข้อมูลอื่นๆ ที่ศึกษาเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ได้ตั้งคำถามไว้
                4. ขั้นการเขียนสรุปและนำเสนอ 
                                4.1 ปรับแผนผังความคิดเดิม
                                4.2 นำเสนอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น